สืบ นาคะเสถียร (31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 - 1 กันยายน พ.ศ. 2533) เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สืบมีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต ได้แก่ กอบกิจ นาคะเสถียร เป็นน้องชายคนกลาง และกัลยา รักษาสิริกุล เป็นน้องสาวคนสุดท้อง
สืบศึกษาระดับประถมตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีผลการเรียนดีมาตลอด เมื่อว่างเรียนก็ช่วยเหลือครอบครัวทำไร่ไถนา และยกเสริมแนวคันนาเองเพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้นจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ จนถึงปี พ.ศ. 2517 และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518
เมื่อสำเร็จปริญญาโท สืบเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น และสืบเลือกหน่วยงานนี้เพราะต้องการงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ณ ที่นั้น สืบได้ทราบว่ามีผู้ทรงอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก
ต่อมาปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล จึงศึกษาระดับปริญญาโทอีกที่สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2524 แล้วกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าหลายรุ่น ครั้นปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว
ในระยะนี้ สืบได้ทำงานทางวิชาการอันเป็นที่รักของเขาอย่างเต็มที่ จึงผูกพันกับสัตว์และป่า งานวิจัยเริ่มแรกว่าด้วยจำนวน ชนิด พฤติกรรม และการทำรังของนก สืบยังริเริ่มใช้เครื่องมือสมัยใหม่บันทึกการวิจัย เช่น กล้องวีดิทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ ข้อมูลของสืบกลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก กับทั้งวีดิทัศน์ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าและการทำลายป่าในประเทศไทย ทีสืบผลิตขึ้นเองทั้งสิ้น
คุณสืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่สืบมิได้ย่อท้อคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น
ในปี พ.ศ. 2528 สืบได้ติดตามนักวิจัยชาวต่างชาติซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปสำรวจกวางผา สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้น ชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์จนเกิดไฟป่า คณะของสืบหนีไฟป่าเป็นโกลาหล และคำนึง ณ สงขลา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตกหน้าผาถึงแก่ความตาย
ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้ แต่ความพยายามของสืบนั้นไร้ผล จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุนสืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนจึงระงับไป
ระหว่างนั้น สืบได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานีอีกตำแหน่ง และปี พ.ศ. 2530 ได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสด้วย
ในปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร
ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ครั้นปี พ.ศ. 2533 สืบจึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน
ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน
สืบได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะด้านสำรวจนก กวางผา เลียงผา และนิเวศวิทยาที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งยังได้เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย
ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลาย ๆ ด้าน และเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ
สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว